ประวัติการก่อตั้งสมาคม

ประเทศไทยยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่นับเข้าข่ายของประเทศที่วิทยาศาสตร์ ได้มีส่วนช่วยเหลือการครองชีพของประชาชน มากกว่าเพียงเป็นพิธีการเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน ประการแรกที่สำคัญคือ อาจเป็นเพราะว่าเศรษฐกิจของประเทศ ไม่เคยเลวพอ ที่จะทำให้ประชาชนต้องแข่งขันกันดำรงชีพภายในประเทศ ข้าวปลาอาหารก็อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งอิทธิพลเก่าแก่ทางพุทธศาสนา ซึ่งตักเตือนไม่ให้มนุษย์มีความโลภ และปฏิบัติตนอย่างรุนแรงในการสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน บางทีสิ่งเหล่านี้ อาจจะขัดกับการใช้สติปัญญา และความอยากรู้อยากเห็น เกี่ยวกับธรรมชาติและความลับของชีวิต นอกจากนั้น จากผลของสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2485 จนถึง 2489 นั้น เป็นระยะเวลายาวนาน ที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะสงคราม และต้องประสบกับความขาดแคลนวัสดุต่างๆ ทั้งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ของประชาชนทั่วไป เช่น สารเคมี อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เครื่องจักรกล และน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ ประเทศไทยบอบช้ำทั้งทางด้านวัตถุ จิตใจ ความรู้ทางวิชาการ และความไม่ก้าวหน้า รวมทั้งวิทยาศาสตร์ขั้นมูลฐาน และวิทยาศาสตร์ประยุกต์

ปัจจัยเหล่านี้ร่วมกันกระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์ตระหนักว่า จะต้องขยายวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ให้มีรากฐานที่แผ่ไพศาล กล่าวคือ - จะต้องเร่งการฝึกฝนอบรมผู้ที่สนใจอาชีพทางวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรกระตุ้นเด็กนักเรียนในชั้นประถมและมัธยม ให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นเรื่องราว เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์โดยวิธีต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้สู่จุดประสงค์ดังกล่าว จำเป็นต้องมี "สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย"

จากหลักฐานที่ปรากฏในหนังสือ "มหาวิทยาลัย" เล่มที่ 12 พ.ศ. 2477 มีรายงานว่า "ชุมนุมวิทยาศาสตร์" ได้มีการก่อตั้งมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2477 โดยมี นายเจริญ ธรรมพานิช เป็นประธานชุมนุม ต่อมา ดร.คลุ้ม วัชโรบล ได้เขียนไว้ในนิตยสารชุมนุมวิทยาศาสตร์ (ฉบับพิเศษ) พ.ศ. 2488 มีใจความว่า ชุมนุมวิทยาศาสตร์ เริ่มขึ้นแต่ครั้งคุณหลวงพรตพิทยพยัต เป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2478 คือ เมื่อ ดร. คลุ้ม กลับมาประจำ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใหม่ๆ ในปีนั้น อาจารย์ทองศุข พงศทัต ได้รับหน้าที่เป็นนายกชุมนุม ชุมนุมวิทยาศาสตร์ ได้จัดให้มีการแสดงปาฐกถา เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เช่น ในปี พ.ศ. 2479 เมื่อท่านศาสตราจารย์ เซอร์ เอฟ.เจ.เอม. สแตรตตัน (Sir.F.J.M. Stratton M.A.) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้มาเยี่ยมเมืองไทย ชุมนุมวิทยาศาสตร์ได้เชิญท่านมาแสดงปาฐกถาเรื่อง "หมอกเพลิง" (The Great Nebulae) ณ ห้องปาฐกถา ตึกฟิสิกส์ นอกจากนี้ ก็มีปาฐกถาของคุณหลวงพรตฯ และอาจารย์อื่นๆ อีก 2-3 ท่าน แล้วก็เงียบหายไป งานอีกชิ้นหนึ่งที่ชุมนุมวิทยาศาสตร์นี้ได้ทำมาคือ ชุมนุมวิทยาศาสตร์ได้ใช้เงินทุนของชุมนุมอุทิศ (โดยศาสตราจารย์ E.H. Hadlock อุทิศ) ไปในการค้าหนังสือ การเงินของชุมนุมเพิ่มขึ้นราวๆ 4,000 บาท

ต่อมา ดร.คลุ้ม วัชโรบล ได้ไปปรึกษาเรื่องชุมนุมวิทยาศาสตร์นี้ กับท่านคณบดีวิทยาศาสตร์ ท่านมีความเห็นว่า เนื่องด้วยคณะวิทยาศาสตร์ก็มีอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะมีชุมนุมวิทยาศาสตร์ขึ้นอีก ท่านจึงได้ให้ยุบเสีย เพราะเท่าที่ได้เป็นมาแล้ว ชุมนุมวิทยาศาสตร์ มีกัมมันตภาพไม่ถึงขนาด แต่อย่างไรก็ดี ท่านได้ให้คำแนะนำว่า ชุมนุมวิทยาศาสตร์ควรเป็นสาขาหนึ่ง ของสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ และคณะวิทยาศาสตร์ จะยินดีร่วมมือด้วยทุกวิถีทาง ดร. คลุ้ม ได้นำเรื่องนี้ ไปปรึกษากับคณะกรรมการสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ สมาคมก็ไม่ขัดข้อง และยินดีรับชุมนุมวิทยาศาสตร์ เข้าไว้เป็นสาขาหนึ่งของสมาคม ตกลงเป็นอันว่า ชุมนุมวิทยาศาสตร์ มิได้อยู่ในคณะวิทยาศาสตร์ ดังที่ได้เคยเป็นมาแล้ว แต่เป็นสาขาวิทยาศาสตร์ของสมาคมนิสิตเก่า จุฬาฯ ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ ณ ตึกหลังสำนักงานเลขาธิการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท