วารสารวิทยาศาสตร์

วารสารวิทยาศาสตร์ ฉบับ 2/2560

มีนาคม - เมษายน 2560

การประกวดกิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ – SCG

โดย ...สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ระหว่างงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

******************************

ตามที่สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ริเริ่มกิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา และได้มีการจัดประกวดกิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ - SCG เป็นประจำทุกปี ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียน ครู/อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษาอย่างกว้างขวาง โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการประกวดกิจกรรมชุมนุมฯ ดังนี้

  1. เพื่อกระตุ้นและปลูกฝังให้เยาวชนไทยศึกษาหาความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์
  2. เพื่อส่งเสริมและปลูกฝังให้เยาวชน สืบเสาะหาความรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
  3. เพื่อกระตุ้นและปลูกฝังให้เยาวชนไทยมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์
  4. เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักการนำเสนอผลงานของตนและกลุ่มผู้ร่วมงานทั้งในรูปแบบของเอกสารรายงาน การจัดแสดงนิทรรศการและการนำเสนอด้วยวาจา
  5. เพื่อเปิดโอกาสให้ครู นักเรียน และบุคคลทั่วไปที่สนใจกิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
  6. เพื่อเผยแพร่กิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์

ข้อกำหนดเกี่ยวกับการประกวดกิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ - SCG

1. การประกวดกิจกรรมชุมนุมฯ ระดับช่วงชั้นที่ 3 (ม.1-ม.3) ชุมนุมที่มีสิทธิส่งเข้าประกวดจะต้องเป็นชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ที่มีสมาชิกชุมนุมเป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับช่วงชั้นที่ 3 ( ม. 1 - ม. 3 ) ทั้งนี้ผู้แทนชุมนุมที่จะเสนอด้วยวาจาจะต้องเป็นสมาชิกของชุมนุมที่เข้าประกวด และอยู่ในช่วงชั้นที่ 3 (ม.1 – ม.3)  ในปีการศึกษาปัจจุบัน

2. กำหนดการประกวดกิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ – SCG

ระยะเวลา

กิจกรรม

30 มิถุนายน พ.ศ.2560

หมดเขตการส่งใบสมัครและเอกสารรายงานกิจกรรมชุมนุมฯ 12 เล่ม เพื่อคัดเลือกเบื้องต้น (พิจารณาจากตราประทับไปรษณีย์)

25 กรกฏาคม พ.ศ.2560

แจ้งผลการคัดเลือกเบื้องต้นทางเว็บไซต์ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ http://www.scisoc.or.th

25-27 สิงหาคม พ.ศ.2560

- การจัดแสดงผลงานและนำเสนอผลงานของชุมนุมฯ ที่ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้นในงานสัปดาห์             วิทยาศาสตร์ ปี 2560 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี

- ประกาศผลการตัดสินและมอบรางวัล

3. หลักเกณฑ์การส่งกิจกรรมเข้าประกวด แต่ละชุมนุมต้องทำกิจกรรมตามหนังสือ “คู่มือกิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ฉบับปรับปรุงพ.ศ.2554” ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และเลือก*กิจกรรมเด่นซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดจากกิจกรรมต่างๆ ในชุมนุม โดยมีการสืบเสาะหาความรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และกิจกรรมเด่นควรเป็นกิจกรรมที่สมาชิกร่วมกันทำในชุมนุม

โดยมีเกณฑ์การส่งเข้าประกวด ดังนี้

  1. แต่ละโรงเรียนสามารถสมัครได้มากกว่า 1 ชุมนุม แต่ต้องไม่ซ้ำชุมนุมกันโดยจะต้องดำเนินการตามกำหนดเวลาและเกณฑ์การจัดทำนิทรรศการและเอกสารรายงานอย่างเคร่งครัด
  2. ผู้แทนแต่ละชุมนุมที่ส่งเข้าประกวด ประกอบด้วย นักเรียนที่เป็นสมาชิกในชุมนุมนั้นๆ 3 คน และอาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน
  3. นักเรียนที่เป็นผู้แทนแต่ละชุมนุม ทั้ง 3 คน จะต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมเด่นที่นำเสนอ
  4. นักเรียนที่เป็นผู้แทนชุมนุมสามารถประกวดได้เพียง 1 ชุมนุม เท่านั้น และต้องกำลังศึกษาอยู่ไม่เกินชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษาปัจจุบัน 
  5. อาจารย์ 1 ท่าน สามารถเป็นอาจารย์ที่ปรึกษากิจกรรมชุมนุมได้มากกว่า 1 ชุมนุม
  6. โรงเรียนที่ประสงค์จะสมัครเข้าประกวดต้องส่งใบสมัครพร้อมรายงานจำนวน 12 เล่ม (ดังรายละเอียดรูปแบบเอกสารรายงานกิจกรรมชุมนุมฯ ที่แนบ) ไปยังสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ
  7. หมดเขตรับสมัครวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2560 โดยพิจารณาจากตราประทับไปรษณีย์

4. การคัดเลือก

การคัดเลือกชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์  มีการดำเนินการเป็น 2 ขั้นตอน คือ

  1. ขั้นตอนที่ 1 คัดเลือกจากเอกสารรายงานที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 3 และตามรูปแบบเอกสารรายงานกิจกรรมชุมนุมฯ ดังเอกสารแนบ
  2. ขั้นตอนที่ 2 ชุมนุมที่ผ่านการคัดเลือกในขั้นตอนที่ 1 จะต้องนำผลงานมาจัดนิทรรศการและนำเสนอด้วยวาจา ทั้งนี้ผลการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นเด็ดขาด

5. การตัดสินและรางวัล

การตัดสินและรางวัลแบ่งเป็น 2 ประเภท

  • ประเภทที่หนึ่ง   การตัดสินจากคณะกรรมการ เป็นการตัดสินจากคณะกรรมการ เพื่อให้รางวัลชนะเลิศ รางวัลรองชนะเลิศ และรางวัลชมเชย ของแต่ละสาขา (สาขาชีวภาพ และสาขากายภาพ)
  • ประเภทที่สอง การตัดสินจากผู้เข้าร่วมประกวด เป็นการตัดสินจากนักเรียนที่เข้าประกวดโดยนักเรียนทุกคนที่เข้าประกวดเป็นผู้ให้คะแนนชุมนุมของโรงเรียนต่างๆ ยกเว้นชุมนุมที่มาจากโรงเรียนของตนเอง ผลจากคะแนนนิยมที่มากที่สุดในการจัดนิทรรศการจะได้รับรางวัลขวัญใจ   ประเภทนิทรรศการ จำนวน  1  รางวัล

หมายเหตุ

  1. จำนวนรางวัลและประเภทรางวัล ในข้อ 5 อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามดุลยพินิจของคณะกรรมการ และการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นเด็ดขาด
  2. โรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกและเข้าร่วมประกวดจะได้รับเกียรติบัตร

6. งบประมาณ

สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ และ SCG สนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานจัดประกวดกิจกรรมฯ เงินรางวัล โล่ห์รางวัล และเกียรติบัตร

เกณฑ์การให้คะแนน

คณะกรรมการเป็นผู้ตัดสินโดยพิจารณาจากเกณฑ์

1. เอกสารรายงาน 40 คะแนน
2. นิทรรศการ 30 คะแนน
3. การนำเสนอด้วยวาจา 30 คะแนน
รวม 100 คะแนน

 

โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) เอกสารรายงาน 40 คะแนน ให้จัดทำเอกสารรายงานตามรูปแบบเอกสารรายงานกิจกรรมชุมนุมฯที่แนบ   การให้คะแนนจะพิจารณาความถูกต้องตามเกณฑ์ที่กำหนด มีการสื่อถึงการสืบเสาะหาความรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ความถูกต้องทางวิชาการ การใช้ภาษา การสื่อความหมาย รูปแบบและการนำเสนอที่น่าสนใจและมี ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จากกิจกรรมที่หลากหลาย

2) นิทรรศการ 30 คะแนน โดยพิจารณาจาก

  • ความถูกต้องตามเกณฑ์ขนาดของพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งมีขนาดความกว้าง 120 เซนติเมตร ยาว 120 เซนติเมตร สูงไม่เกิน 180 เซนติเมตรจากพื้น โดยอาจจัดแสดงนิทรรศการในรูปแบบอื่นๆได้นอกจากแผงนิทรรศการ และควรแสดงชื่อกิจกรรมเด่น ชื่อโรงเรียน ชื่อชุมนุมให้เห็นชัดเจน หากมีอุปกรณ์ที่ต้องตั้งแสดง ไม่ควรวางยื่นออกมานอกพื้นที่ที่กำหนด ถ้าเกินจะถูกตัดคะแนน
  • วิธีการนำเสนอที่น่าสนใจและถูกต้องทางวิชาการ รวมทั้งการตอบข้อซักถาม
  • เนื้อหาของนิทรรศการควรแสดงทั้งกิจกรรมเด่นและกิจกรรมอื่นในภาพรวมโดยกิจกรรมเด่นควรแสดงถึงผลงานที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ให้แสดงในรูปแบบแฟ้มสะสมงาน

หมายเหตุ นักเรียนจะต้องอยู่ประจำสถานที่จัดแสดงนิทรรศการชุมนุมของตนเองตลอดเวลาที่จัดงาน และในวันที่มีการนำเสนอด้วยวาจาจะต้องมีนักเรียนประจำนิทรรศการ 1 คน

3) การนำเสนอด้วยวาจา 30 คะแนน ให้นำเสนอเฉพาะกิจกรรมเด่น ชุมนุมละไม่เกิน 10 นาที และตอบข้อซักถามอีก 5 นาที ทั้งนี้ทางสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ จะจัดเตรียมคอมพิวเตอร์ และ LCD ไว้ให้ และถ้าต้องใช้อุปกรณ์โสตอื่นให้จัดเตรียมไปเอง แต่ต้องไม่เคลื่อนย้ายอุปกรณ์ที่จัดไว้ให้และไม่รบกวนผู้อื่นขณะติดตั้ง การให้คะแนนจะพิจารณาจากความเหมาะสมของสื่อที่ใช้ การนำเสนอและตอบคำถามที่แสดงถึงความเข้าใจในกิจกรรมที่ทำ

การนำเสนอด้วยวาจาจะจัดในลักษณะการสัมมนาวิชาการที่มีการซักถามจากนักเรียนที่เข้าประกวดด้วย  เพื่อเป็นการฝึกการซักถามอย่างสร้างสรรค์ ในการนำเสนอ อาจจะให้นักเรียนเพียง 1 คน เป็นผู้นำเสนอก็ได้เพื่อความกระชับ โดยมีนักเรียนอีก 1 คน เป็นผู้ช่วย ทั้งนี้สุดแต่ชุมนุมจะเห็นสมควร ส่วนในเรื่องการตอบคำถามนักเรียนทั้งสองต้องสามารถตอบได้ทั้งคู่

 

*********************************************


รูปแบบเอกสารรายงานกิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ – SCG

(ส่งพร้อมใบสมัคร ชุมนุมละ  12  เล่ม)

ภายใน 30 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ข้อกำหนดในการจัดทำรายงาน

  1. ในรายงานกิจกรรมชุมนุมฯ ที่ส่งเข้าประกวดจะต้องมีความยาวรายงานไม่เกินจำนวนหน้าตามที่กำหนด
  2. ใช้กระดาษ A4 ตัวอักษร Angsana New ขนาด 14 Point
  3. ในรายงานต้องระบุอย่างชัดเจนว่ากิจกรรมใดเป็นกิจกรรมเด่น

รายงานกิจกรรมชุมนุมฯ ที่ส่งเข้าประกวดกำหนดให้มีรูปแบบ ดังนี้

รูปแบบ

ส่วนประกอบ

คำอธิบาย

ปกหน้า

1.  ชื่อกิจกรรมชุมนุม

2. ชื่อเรื่องกิจกรรมเด่น

3.  ผู้จัดทำ

4.  อาจารย์ที่ปรึกษา

5. ชื่อโรงเรียนและที่ตั้ง



- นักเรียน  3  คน

- อาจารย์ที่ปรึกษา  1  คน

- ระบุอำเภอ/เขต จังหวัด และหมายเลขโทรศัพท์ โทรสาร

หน้าที่ 1

คำนำ


หน้าที่ 2

กิตติกรรมประกาศ


หน้าที่ 3

สารบัญ


หน้าที่ 4-5

ใบกิจกรรมของนักเรียนตามรูปแบบของสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ

(ดาวน์โหลดจาก www.scisoc.or.th)

- ใบกิจกรรมของนักเรียนแต่ละคนที่มานำเสนอกิจกรรมชุมนุมฯ ควรสอดคล้องกับแฟ้มงานของนักเรียนที่นำมาแสดงในนิทรรศการ และมีลายเซ็นของอาจารย์ที่ปรึกษาทุกกิจกรรม

หน้าที่ 6

ปฏิทินปฏิบัติงานรายภาคการศึกษาหรือรายปี

- แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติกิจกรรมชุมนุมฯในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

หน้าที่ 7

เป็นต้นไป

(ไม่เกิน 10 หน้า)

เนื้อหาเรียงลำดับดังนี้

- กิจกรรรมในภาพรวม( 4-5 หน้า)

- เรียงความ ความเชื่อมโยงการทำกิจกรรม     ชุมนุม (1 หน้า)

- กิจกรรมเด่น 1 กิจกรรม


- ให้สรุปการทำกิจกรรมอื่นๆ โดยย่อ

- เขียนเรียงความสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมที่ได้รับดาว


- เนื้อหาของกิจกรรมเด่นควรแสดงถึงความคิดริเริ่ม         สร้างสรรค์ การสืบเสาะหาความรู้ และความเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์

หน้าถัดไป

ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำกิจกรรมชุมนุมฯ

- ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำกิจกรรมชุมนุมฯ

- ตัวชี้วัดความสำเร็จของกิจกรรมชุมนุม

หน้าถัดไป

1. เอกสารอ้างอิง

2. รายชื่อสมาชิกของชุมนุม

3. ภาคผนวก (ไม่เกิน 5 หน้า)

4. สำเนาใบสมัคร

- ใช้วิธีการอ้างอิง  ดังนี้

ชื่อผู้แต่ง. ปีที่พิมพ์. ชื่อเรื่องหรือชื่อหนังสือ. สำนักพิมพ์.

ตัวอย่าง

คณะบุคคลนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล. 2550. คู่มือดูนกหมอ

บุญส่ง  เลขะกุล “นกเมืองไทย”. บริษัทด่านสุธาการพิมพ์ จำกัด.

- ส่วนสำคัญของเนื้อหาไม่ควรใส่ไว้ในภาคผนวก

หมายเหตุ เอกสารรายงานที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดจะไม่ได้รับการคัดเลือกในขั้นตอนแรก


*********************************************


ใบประกาศนียบัตรและใบกิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์-SCG

แนวทางการจัดทำกิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์-SCG