This is a page name

ประวัติการก่อตั้งสมาคม

ประเทศไทยยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่นับเข้าข่ายของประเทศที่วิทยาศาสตร์ ได้มีส่วนช่วยเหลือการครองชีพของประชาชน มากกว่าเพียงเป็นพิธีการเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน ประการแรกที่สำคัญคือ อาจเป็นเพราะว่าเศรษฐกิจของประเทศ ไม่เคยเลวพอ ที่จะทำให้ประชาชนต้องแข่งขันกันดำรงชีพภายในประเทศ ข้าวปลาอาหารก็อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งอิทธิพลเก่าแก่ทางพุทธศาสนา ซึ่งตักเตือนไม่ให้มนุษย์มีความโลภ และปฏิบัติตนอย่างรุนแรงในการสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน บางทีสิ่งเหล่านี้ อาจจะขัดกับการใช้สติปัญญา และความอยากรู้อยากเห็น เกี่ยวกับธรรมชาติและความลับของชีวิต นอกจากนั้น จากผลของสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2485 จนถึง 2489 นั้น เป็นระยะเวลายาวนาน ที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะสงคราม และต้องประสบกับความขาดแคลนวัสดุต่างๆ ทั้งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ของประชาชนทั่วไป เช่น สารเคมี อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เครื่องจักรกล และน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ ประเทศไทยบอบช้ำทั้งทางด้านวัตถุ จิตใจ ความรู้ทางวิชาการ และความไม่ก้าวหน้า รวมทั้งวิทยาศาสตร์ขั้นมูลฐาน และวิทยาศาสตร์ประยุกต์

ปัจจัยเหล่านี้ร่วมกันกระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์ตระหนักว่า จะต้องขยายวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ให้มีรากฐานที่แผ่ไพศาล กล่าวคือ - จะต้องเร่งการฝึกฝนอบรมผู้ที่สนใจอาชีพทางวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรกระตุ้นเด็กนักเรียนในชั้นประถมและมัธยม ให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นเรื่องราว เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์โดยวิธีต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้สู่จุดประสงค์ดังกล่าว จำเป็นต้องมี "สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย"