ข้อบังคับของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๕

ฉบับแก้ไขครั้งที่ ๑๗

ตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๖๕

วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

------------------------

หมวดที่ ๑

ข้อความทั่วไป

ข้อ ๑ สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์” ใช้อักษรย่อ  ส.ว.ท. แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Science Society of Thailand”  ใช้อักษรย่อ  S.S.T.

ข้อ ๒ สำนักงานสมาคมตั้งอยู่ที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้อ ๓ วัตถุประสงค์ สมาคมมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

๑. เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในหมู่สมาชิก และผู้สนใจในวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย

๒. เพื่อส่งเสริมความสามัคคีระหว่างสมาชิก

๓. เพื่อส่งเสริมการศึกษา และการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ทั่วไป

๔. เพื่อติดต่อกับองค์กรทางวิทยาศาสตร์ทั้งในและนอกประเทศ

๕. เพื่อรวมกำลังความรู้ของบรรดาสมาชิก สำหรับนำไปใช้ในการส่งเสริม สวัสดิการสาธารณะ

๖. เพื่อโฆษณาเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้แก่ประชาชน และไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด

 หมวดที่ ๒

สมาชิกภาพ

ข้อ ๔ ประเภทสมาชิก สมาชิกของสมาคมฯ แบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ

ก. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติคุณในวิทยาศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการได้ลงมติเชิญให้เป็นสมาชิก ได้แก่ องค์สมาชิกกิตติมศักดิ์และสมาชิกกิตติมศักดิ์

ข. สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลผู้สำเร็จการศึกษาในวิทยาศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่งจากสถาบันการศึกษาทั่วไป หรือบุคคลผู้มีอาชีพทางวิทยาศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่ง ซึ่งได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกตามระเบียบของสมาคมฯ และสมาคมฯ ได้รับไว้เป็นสมาชิก

ค. สมาชิกสมทบ ได้แก่ บุคคลที่สนใจในวิทยาศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่ง ซึ่งได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ตามระเบียบของสมาคมฯ และสมาคมฯ ได้รับไว้เป็นสมาชิก

ง. สมาชิกอุปการะ ได้แก่ บุคคล หรือองค์กรที่ยินดี ส่งเสริมกิจการวิทยาศาสตร์ สาขาใดสาขาหนึ่ง หรือหลายสาขา ซึ่งได้สละทรัพย์สินเป็นการอุปการะกิจการของสมาคมฯ และสมาคมฯ ได้รับไว้เป็นสมาชิก

จ. สมาชิกนิติบุคคล ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ เอกชน หรือองค์กรในรูปของห้องสมุด สมาคม มูลนิธิ คณะบุคคล ต่างๆ ฯลฯ ที่สนใจในวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้สมัครเข้าเป็น สมาชิกตามระเบียบของสมาคมฯ และสมาคมฯ ได้รับไว้เป็นสมาชิก

ข้อ ๕ การเข้าเป็นสมาชิก

ผู้ประสงค์จะเป็นสมาชิก เว้นแต่สมาชิกกิตติมศักดิ์ และสมาชิกอุปการะ ให้ยื่นใบสมัครตามแบบที่สมาคมฯ ได้กำหนดต่อนายทะเบียน แล้วให้นายทะเบียนเสนอชื่อ และอาชีพของผู้สมัครใหม่ (ในกรณีของสมาชิกนิติบุคคลให้เสนอชื่อนิติบุคคลนั้น และตำแหน่งที่ตั้ง) ต่อคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ในการประชุมกรรมการบริหารสมาคมฯ ในครั้งต่อไป เพื่อให้ที่ประชุมลงมติรับไว้เป็นสมาชิก

ข้อ ๖ ค่าบำรุง

       สมาชิกสามัญ สมาชิกสมทบ และสมาชิกนิติบุคคล ชําระค่าบํารุงเป็น รายปีหรือตลอดชีพ อัตราค่าบํารุงให้กําหนดโดยที่ประชุมใหญ่สามัญของสมาคมฯ

หมายเหตุ สมาชิกภาพของสมาชิกประเภทชําระเป็นรายปี สิ้นสุดในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ของทุกปี

ข้อ ๗ สิทธิของสมาชิก

ก. สมาชิกมีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาคมฯ

ข. สมาชิกนิติบุคคลมีสิทธิเทียบเท่าสมาชิกสามัญรายปี โดยต้องเสนอแต่งตั้งผู้แทนของนิติบุคคลนั้นๆ จำนวน ๑ คน มายังสมาคมฯ

ค. สมาชิกทุกประเภท มีสิทธิได้รับวารสารวิทยาศาสตร์ โดยไม่ต้องเสีย ค่าบํารุงอีก

ง. สมาชิกที่ประสงค์จะรับวารสาร ScienceAsia ของสมาคมฯ ต้องชําระค่าบํารุงเพิ่มโดยอัตราค่าบํารุงขึ้นกับประเภทสมาชิกและกําหนดโดยที่ประชุมใหญ่สามัญของสมาคม

จ. สมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบหรือตลอดชีพ มีสิทธิเข้าร่วมการประชุมทางวิชาการ หรือกิจกรรมอื่นของสมาคมฯ ในอัตราพิเศษ

ฉ. สมาชิกมีสิทธิเสนอความเห็นใดๆ เกี่ยวกับกิจการของสมาคมฯ ต่อคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ได้

ช. สมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบ มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในการประชุมได้ คนละ ๑ คะแนน

ซ. สมาชิกสามัญหรือตลอดชีพ มีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารสมาคมฯ

ฌ. สมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบหรือตลอดชีพ มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการบริหารสมาคม ฯ

ข้อ ๘ การพ้นจากสมาชิกภาพ สมาชิกจะพ้นจากสมาชิกภาพเนื่องด้วยเหตุดังต่อไปนี้

ก. ตาย
ข. ลาออก
ค. ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของสมาคมฯ
ง. มีความประพฤติเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ลงมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ

หมวดที่ ๓

วิธีบริหารสมาคม

ข้อ ๙ ให้มีกรรมการบริหารกิจกรรมของสมาคมฯ ขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีวาระและการดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้

ก. คณะกรรมการบริหาร มีองค์ประกอบดังนี้

(๑) นายกสมาคมฯ ซึ่งมาจากว่าที่นายกสมาคมฯ (ดูรายละเอียด ข้อ ๑๐ (ฌ) หรือนายกสมาคมฯ ในคณะกรรมการบริหารชุดที่เพิ่งพ้นวาระ ที่คณะกรรมการสรรหาว่าที่นายกสมาคมฯ เห็นควรเสนอให้ดำรงตำแหน่ง อีกวาระหนึ่งและได้รับความเห็นชอบรับรองในที่ประชุมใหญ่สามัญของปีที่มีการเลือกตั้ง

(๒) ผู้ที่สมาชิกเลือกตั้ง ๒๐ คน

(๓) อดีตนายกสมาคมฯ ที่เพิ่งพ้นวาระ ๑ คน ในกรณีที่นายกสมาคมฯ ที่เพิ่งพ้นวาระได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีกวาระหนึ่ง ก็ไม่ต้องมีอดีตนายกสมาคมฯ เป็นกรรมการบริหาร

(๔) ว่าที่นายก๑ คน(เฉพาะในปีที่สองของวาระนายกสมาคมฯ)  ในกรณีที่นายกสมาคมฯ ที่เพิ่งพ้นวาระได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีกวาระหนึ่ง ก็ไม่ต้องมีว่าที่นายกสมาคมฯ เป็นกรรมการบริหาร

(๕) ผู้ที่นายกสมาคมฯ เลือกจากสมาชิกสมาคมฯ อีก ๕ คน  ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้ที่สมาชิกเลือกตั้งในข้อ ๙ ก.(๒) แล้ว

(๖) ผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในสมาคมฯ ซึ่งที่ประชุมใหญ่กำหนดให้เป็นกรรมการบริหาร

ข. ให้นายกสมาคมฯ เลือกกรรมการ บริหารเพื่อดำรงตำแหน่งหน้าที่ อุปนายก เลขาธิการ เหรัญญิก นายกสมาคมฯ อาจแต่งตั้งผู้ช่วยตําแหน่งต่างๆ ได้อีกตามความจําเป็นโดยมีจํานวนรวมไม่เกิน ๑๐ คน และไม่มีสถานภาพเป็นกรรมการบริหาร

ค. ให้คณะกรรมการบริหารอยู่ในตำแหน่งได้สมัยละ ๒ ปี ตามปีปฏิทิน และมีสิทธิเป็นกรรมการต่อไปตามวิธีการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

ง. นายกสมาคมฯ มีวาระ ๒  ปี

จ. ถ้านายกสมาคมฯ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะความจำเป็นหรือลาออกก่อนถึงกำหนดออกตามวาระให้กรรมการบริหารตามข้อ ก(๒), (๓), (๔) และ (๖) เลือกกรรมการบริหารตามข้อ ก(๒), (๓), (๔) และ (๖) คนใดคนหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ แทน โดยให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระของนายกสมาคมฯ ที่ตนแทนเท่านั้น

ในกรณีดังกล่าวนี้ให้คณะกรรมการบริหารตามข้อ ก(๕) พ้นจากตำแหน่ง และให้นายกสมาคมฯ ที่ได้รับเลือกใหม่แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารตามข้อ ก(๕) ขึ้นมาแทน  โดยให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระของกรรมการบริหารที่ตนแทนเท่านั้น

ฉ. ถ้าตำแหน่งกรรมการบริหารที่สมาชิกเลือกตั้งว่างลงก่อนถึงกำหนดออกตามวาระ ให้ผู้ที่ได้คะแนนเลือกตั้งคนต่อไปดำรงตำแหน่งแทน ถ้าตำแหน่งกรรมการบริหารที่มาด้วยวิธีอื่นว่างลงก่อนถึงกำหนดออกตามวาระ ให้คณะกรรมการบริหารดำเนินการให้ได้กรรมการบริหารขึ้นมาทดแทน ทั้งนี้ในทุกกรณีให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งแทนนั้น อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระของคณะกรรมการบริหารที่ตนแทน

ข้อ ๑๐ ให้กำหนดวิธีการเลือกกรรมการบริหารดังต่อไปนี้

ก. สมาชิกสามัญผู้ซึ่งได้ชำระค่าบำรุงครบถ้วนเท่านั้น มีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหาร

ข. ให้ที่ประชุมใหญ่สามัญของปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง แต่งตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งกรรมการบริหาร ๕ คน ซึ่งประกอบด้วย

(๑) สมาชิกสามัญ ๓ คน (ซึ่งเลือกตั้งในที่ประชุมใหญ่)

(๒) สมาชิกสามัญที่คณะกรรมการบริหารเสนอ ๒ คน ซึ่งที่ประชุมใหญ่ให้ความเห็นชอบ

ค. ให้คณะกรรมการเลือกตั้งคัดเลือกสมาชิกที่สมควรจะได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารจากสมาชิกที่มีคุณวุฒิในสาขาวิทยาศาสตร์ต่างๆ และสอบถามความสมัครใจที่จะปฏิบัติงานให้แก่สมาคมฯกรรมการบริหารที่เข้าร่วมการประชุมต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนครั้งการประชุมในสมัยหนึ่งไม่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารสมัยต่อไป ทั้งนี้ องค์ประชุมของคณะกรรมการเลือกตั้งต้องไม่น้อยกว่า ๓ คน

ง. ให้คณะกรรมการเลือกตั้งประกาศชื่อ พร้อมทั้งประวัติย่อของสมาชิกไม่ต่ำกว่า ๔๐ คน ที่สมควรจะได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหาร

จ. สมาชิกสามัญ และหรือ สมาชิกสมทบอาจเสนอชื่อสมาชิกสามัญ ที่สมควรจะได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหาร ได้เพียงสมัยละ ๑ ชื่อเท่านั้น โดยมี สมาชิกรับรอง ๕ คน ต่อชื่อ โดยเสนอชื่อพร้อมทั้ง ประวัติย่อ ให้ถึงสํานักงานสมาคม ภายในเดือนมิถุนายนของปีที่มีการเลือกตั้ง

ฉ. ให้คณะกรรมการเลือกตั้งคัดเลือกรายชื่อและสอบถามความสมัครใจของสมาชิกที่ได้รับการเสนอชื่อ  ตามหลักการในวรรค จ  ไว้อย่างมาก ๑๐ ชื่อ  เพื่อประกาศในรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ช. ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานสมาคม จัดส่งบัตรลงคะแนนเสียง พร้อมด้วยรายชื่อและประวัติย่อของ ผู้สมัครรับเลือกตั้งไปให้สมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบทุกคน ภายในเดือนกรกฎาคมของปีที่มีการเลือกตั้ง

ซ. ให้สำนักงานสมาคมรวบรวมบัตรลงคะแนนเสียงเสนอต่อคณะ กรรมการเลือกตั้ง เพื่อนับคะแนนและ รายงานผลการเลือกตั้งในวันประชุมใหญ่สามัญ

ฌ. การสรรหาว่าที่นายกสมาคมฯ นั้น ให้ดำเนินการให้เสร็จก่อนการหมดวาระของคณะกรรมการบริหาร โดย คณะกรรมการบริหารเสนอชื่อกรรมการสรรหาจํานวน ๕ คน ประกอบด้วยผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ หรืออุปนายกสมาคมฯ ๑ คน ผู้แทนกรรมการบริหาร ๑ คน ผู้แทนจากกลุ่มสาขาวิชาการ หรือสาขาภูมิภาค ๑ คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ๒ คน เพื่อให้สมาชิกสมาคมฯ ให้ความเห็นชอบรับรองในที่ประชุมใหญ่สามัญของปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง

การสรรหาว่าที่นายกสมาคมฯ นั้นให้ดำเนินการตามวิธีการที่คณะกรรมการบริหารกำหนด  และเมื่อคณะกรรมการสรรหาว่าที่นายกสมาคมฯ ได้แล้ว  ให้นำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อให้ความเห็นชอบ แล้วให้ที่ประชุมใหญ่สามัญให้ความเห็นชอบรับรอง ในกรณีที่กรรมการสรรหาว่าที่นายกสมาคมฯ เห็นว่า นายกสมาคมฯ ที่จะพ้นวาระมีความเหมาะสมที่จะได้ดำรงตำแหน่งต่อเป็นวาระที่ ๒ และได้รับความเห็นชอบ รับรองจากคณะกรรม การบริหารก็ให้ผู้นั้นเป็นนายกสมาคมฯ อีกวาระหนึ่ง ทั้งนี้ต้องไม่เกิน ๒ วาระต่อเนื่องกัน  และ ในกรณีดังกล่าวไม่ต้องมีว่าที่นายกสมาคมฯ ในปีที่สองของวาระแรก

ข้อ ๑๑ อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร

ก. คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่บริหารงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ

ข. ให้คณะกรรมการบริหาร ประชุมเพื่อปรึกษากิจการ ของสมาคมฯ ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า ๔ ครั้ง องค์ประชุมคณะกรรม การบริหารต้องประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ และในจำนวนนี้ต้องมี นายก อุปนายก เลขาธิการ หรือรองเลขาธิการ อยู่ด้วยอย่างน้อยหนึ่งคน

ค. มติของคณะกรรมการบริหารให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ นายกมีสิทธิออกเสียงในฐานะเป็นกรรมการบริหารผู้หนึ่งได้ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน นายกมีอำนาจชี้ขาด

ง. คณะกรรมการบริหารมีอำนาจเชิญสมาชิก สมาชิกสมทบและ ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นอนุกรรมการ เพื่อให้ช่วยเหลือกิจการของสมาคมฯ ได้

จ. คณะกรรมการบริหารมีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ ได้

ฉ. คณะกรรมการบริหารมีอำนาจกำหนดระเบียบการเงินของสมาคมฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ๆ เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติ

หมวดที่ ๔

การประชุม

ข้อ ๑๒ การประชุมใหญ่สามัญ

ให้มีการประชุมใหญ่สามัญปีละครั้ง ในเดือนตุลาคม หรือ พฤศจิกายน โดยมีระเบียบวาระการประชุมดังต่อไปนี้

ก. รับรองรายงานประชุมใหญ่สามัญ/วิสามัญ ครั้งที่ผ่านมา 

ข. กรรมการบริหารแถลงกิจการในรอบปี

ค. เสนองบดุลซึ่งผู้สอบบัญชีรับรองแล้ว

ง. การแต่งตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งกรรมการบริหาร สมาคมฯ ตามข้อ ๑๐ ข. ในปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง

จ. การให้ความเห็นชอบคณะกรรมการสรรหาว่าที่นายกสมาคมฯ ตามข้อ ๑๐ ฌ. ในปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง

ฉ. ผลการเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ตามข้อ ๑๐ ซ ในปีที่มีการเลือกตั้ง

ช.เลือกตั้งผู้สอบบัญชี

ซ.เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)

ข้อ ๑๓ การประชุมใหญ่วิสามัญ

เมื่อคณะกรรมการบริหารเห็นสมควรให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ หรือเมื่อสมาชิกสามัญหรือสมาชิกสมทบไม่น้อยกว่า ๒๐ คน ร้องขอ ก็ให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญได้

ข้อ ๑๔ องค์ประชุม

การประชุมใหญ่สามัญ หรือวิสามัญต้องมีสมาชิกสามัญหรือสมาชิกสมทบไม่น้อยกว่าสามสิบคน ถ้าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบที่มาประชุมเห็นว่าผู้มาประชุมน้อยเกินไปจะลงมติให้เลื่อนการประชุมไปคราวหน้าก็ได้

ข้อ ๑๕ การประชุมทางวิชาการ

ให้มีการประชุมทางวิชาการ หรือปาฐกถาเป็นครั้งคราว

หมวดที่ ๕

การจัดตั้งสาขา

ข้อ ๑๖ สมาคมฯอาจจัดตั้งสาขาทางวิชาการได้ การจัดตั้งสาขาทางวิชาการให้กระทำได้โดยประกาศของสมาคมฯ ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ วางไว้

ข้อ ๑๗ สมาคมฯ อาจตั้งสาขาภูมิภาคโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ สาขาภูมิภาคดําเนินการภายใต้ความรับผิดชอบ อํานาจ และหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ แต่อาจมีคณะกรรมการสาขาภูมิภาค ซึ่งคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ แต่งตั้งเพื่อบริหารได้

หมวดที่ ๖

การแก้ไขข้อบังคับ

ข้อ ๑๘ ข้อบังคับของสมาคมฯ จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ โดยมติของที่ประชุมใหญ่สามัญ หรือวิสามัญเท่านั้น และต้องได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบผู้มาประชุม

เอกสารแนบท้าย

ข้อ ก (๖)  ผู้มีตําแหน่งหน้าที่ในสมาคมฯ ซึ่งที่ประชุมใหญ่ กําหนดให้เป็นกรรมการบริหารโดยตําแหน่ง ได้แก่

  •  ประธานการประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ
  •  ประธานสาขาวิชาการ (เคมี,ชีววิทยา,ฟิสิกส์,ชีวเคมี,สาขาครูวิทยาศาสตร์)
  •  ประธานสาขาภูมิภาค (ภาคเหนือ,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ,ภาคใต้)
  •  บรรณาธิการ วารสาร ScienceAsia
  •  บรรณาธิการ วารสารวิทยาศาสตร์ สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ
  •  ประธานชมรม นจวท
  •  ประธานกิจกรรมเยาวชน
    • ประธานกิจกรรมชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์
    • ประธานกิจกรรม Thai Science Camp
    • ประธานกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์
    • ประธานกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษา
    • ประธานโครงการรางวัลนวัตกรรม