ข่าวสาร

เยาวชนไทยสร้างชื่อคว้ารางวัล ระดับโลก ISEF 2024


เยาวชนไทยสร้างชื่อคว้ารางวัลโครงงานวิทยาศาสตร์ ระดับโลก REGENERON ISEF 2024

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ส่งทีมเยาวชนไทย จำนวน 9 ทีม เข้าร่วมการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์สำหรับเยาวชนระดับโลก REGENERON ISEF 2024 (Regeneron International Science and Engineering Fair) ระหว่างวันที่ 11 – 17 พ.ค. 2567 จัดโดย Society for Science  ที่เมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเวทีการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีตัวแทนเยาวชนกว่า 75 ประเทศทั่วโลก

รศ.ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวแสดงความยินดี “ปีนี้ สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับ NSM ได้ส่งตัวแทนทีมเยาวชนไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 9 ทีม โดยผลงานถูกคัดเลือกจากการประกวดในค่ายเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ครั้งที่ 19 และการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 23 ประจำปี 2566 โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์มหาวิทยาลัยภูมิภาคทั้ง 6 ศูนย์ทั่วประเทศ ในปีนี้ผลงานของทีมเยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลมาครองได้สำเร็จด้วยโครงงานวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่นจนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้ในครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์อันมีค่าที่สามารถสร้างโอกาสให้เยาวชนได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ และหวังว่าจะสามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จากการศึกษาวิจัยเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมวิทยาศาสตร์ให้ยั่งยืนต่อไป”

          ผลการแข่งขัน ทีมตัวแทนเยาวชนไทยสามารถคว้า 10 รางวัล ประกอบด้วยรางวัล Grand Awards จำนวน 8 รางวัล และรางวัล Special Awards จำนวน 2 รางวัล ได้แก่

1. โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย  จากโครงงาน Bee’s spa: นวัตกรรมแอ่งโคลนเทียมสำหรับให้แร่ธาตุในการเพาะเลี้ยงผึ้งพันธุ์ Apis mellifera บนพื้นที่สูงเพื่อลดการตายในฤดูแล้ง โดยมี นายวิษณุชัย หัตถกอง นายรัตนโกสินทร์ ภิราษร และนายธนภัทร สมญาพรเจริญชัย เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร เป็นครูที่ปรึกษา ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 2 ในสาขาสัตวศาสตร์ (Animal Sciences) ได้รับเงินรางวัล $2000

 

 2. โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง จากโครงงานการศึกษาผลของมุมยอดของรูปทรงสามเหลี่ยม ที่มีผลต่อการไหลแบบ acoustic streaming โดยมี นายกรกฤต ต้นพงษ์พันธุ์ และ นายเวโรจน์ บุญราช เป็นผู้จัดทำโครงงาน และดร.ปริญญา ศิริมาจันทร์ เป็นครูที่ปรึกษา ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 2 ในสาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ (Physics and Astronomy) ได้รับเงินรางวัล $2000

 

3. โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ โครงงานวิธีการเพาะไข่น้ำแนวใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตโปรตีนสำหรับพัฒนาเป็นอาหารแห่งอนาคตที่ยั่งยืน โดยมี นายสัญพัชญ์ อัครจีราวัฒน์ และนายธนัตถ์กรณ์ เชาวนสมิทธิ์ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนายชนันท์ เกียรติสิริสาสน์ ครูที่ปรึกษา ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 2 ในสาขาพฤกษศาสตร์ (Plant Sciences) ได้รับเงินรางวัล $2000

 

4. โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ จากโครงงานการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์และการผลิตไบโอดีเซลจากการย่อยสลายและการเปลี่ยนขยะทางการเกษตรโดยหนอนแมลงวันลาย โดยมี นายณภูดล ศรีรัตนา และนายปพนพัชร์ วิรุฬห์ไววุฒิ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนางสาววนิดา ภู่เอี่ยม เป็นครูที่ปรึกษา ปรึกษา ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 3 ในสาขาสัตวศาสตร์ (Animal Sciences) ได้รับเงินรางวัล $1000 พร้อมกันนี้ยังสามารถคว้ารางวัล Special Award อันดับที่ 2 จากหน่วยงาน Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society ในสาขา Life Sciences ที่เป็นองค์กรสนับสนุนความก้าวหน้าของงานวิจัยและการสร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นใหม่ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ได้รับเงินรางวัล 800 ดอลลาร์สหรัฐ มาครองด้วย

 

5. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จ.ปทุมธานี (Robotics & Intelligent Machines) จากโครงงานระบบวิเคราะห์คุณภาพลูกกุ้งความแม่นยำสูงด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม โดยมี นายปฏิพนธ์ ติยะปัญจนิตย์ และนายทินภัทร เสียมไหม เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนายขุนทอง คล้ายทอง เป็นครูที่ปรึกษา ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 3 ในสาขาหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลปัญญาประดิษฐ์ ได้รับเงินรางวัล $1000พร้อมกันนี้ยังสามารถคว้ารางวัล Special Award อันดับที่ 1 จากหน่วยงาน Association for Computing Machinery (ACM) ได้รับเงินรางวัล 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ มาครองอีก 1 รางวัล

 

6. โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ จากโครงงาน EiPCA: อุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาแบบ 12 ลีด โดยมี นายคุณาสิน สุขศรี นายพีรพัฒน์ วัฒนกิจ และนางสาวพัชรดา เทวาดิเทพ ผู้จัดทำโครงงาน และดร.ขัติยา ปิยะรังษี เป็นครูที่ปรึกษา ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 3 ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ปริวรรต (Translational Medical Science) ได้รับเงินรางวัล $1000

 

7. โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก จ.เชียงราย จาก โครงงานนวัตกรรมกิ่งไม้เทียมสำหรับเลี้ยงแมลงครั่งเพื่อเพิ่มผลผลิตครั่งอย่างยั่งยืน โดยมีนายวรฤทธิ์ สุยาละ และนางสาววิภารัตน์ รวยทรัพย์โภคิน เป็นผู้จัดทำโครงงาน และนายกีรติ ทะเย็น เป็นครูที่ปรึกษาได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 4 ในสาขาสัตวศาสตร์ (Animal Sciences) ได้รับเงินรางวัล $ 500

 

8. โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง จาก โครงงานการเปรียบเทียบคลื่นความโน้มถ่วงที่เกิดขึ้นจากระบบหลุมดำคู่กับคลื่นแบบหมุนที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของก้อนมวลบนผืนผ้าสแปนเด็กซ์ โดยมีนายคณิศร สว่างไสว และนายภูดิศ ธนกุลไกรฤทธิ เป็นผู้จัดทำโครงงาน และดร.ปริญญา ศิริมาจันทร์ เป็นครูที่ปรึกษาได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 4 ในสาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ (Physics and Astronomy) ได้รับเงินรางวัล $ 500