ข่าวสาร

เยาวชนไทยสร้างชื่อคว้ารางวัลโครงงานวิทย์ฯ ระดับโลก REGENERON ISEF 2023


          เยาวชนไทยสร้างชื่อคว้ารางวัลโครงงานวิทย์ฯ ระดับโลก จากงาน Regeneron International Science and Engineering Fair 2023 (Regeneron ISEF 2023) ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2566 โดยทีมเยาวชนไทยจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ ประกอบด้วยนายปูรณ์ ตระกูลตั้งมั่น นายทีปกร แก้วอำดี และนายปัณณธร ศิริ และมีนายชนันท์ เกียรติสิริสาสน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยโครงงานที่ชนะการแข่งขัน ได้แก่ “การเพิ่มอัตราการรอดของแมลงช้างปีกใส (Mallada basalis) จากพฤติกรรมการฟักและการเลือกกินอาหาร (Innovation for Optimizing Lacewing Survivability)” ซึ่งได้รับรางวัลที่ 1 สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ (Regeneron Young Scientist Awards) ได้รับเงินรางวัลมูลค่ากว่า 1.7 ล้านบาท พร้อมคว้ารางวัล Grand Awards อันดับ 1 สาขาสัตวศาสตร์ ได้รับเงินรางวัลมูลค่ากว่า 170,000 บาท ในการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก REGENERON ISEF 2023 ที่เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีทีมเยาวชนไทยได้รับรางวัลอีก 8 รางวัลบนเวทีระดับโลกนี้

            รศ.ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์  นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้ส่งตัวแทนทีมเยาวชนไทย ที่ได้รับคัดเลือกจากการประกวดในค่ายเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ประจำปี 2565 (Thai Young Scientist Festival (TYSF)) ครั้งที่ 18 จำนวน 8 ทีม ไปเข้าร่วมการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก ในงาน Regeneron ISEF 2023 โดยทีมเยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาครองได้สำเร็จสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้ ต้องขอแสดงความยินดีกับเยาวชนไทย ที่มีโอกาสเข้าร่วมในการแข่งขันโครงงานวิทย์ฯ ระดับโลก ถือเป็นประสบการณ์อันมีค่าที่หาไม่ได้ง่าย ๆ  หวังว่าจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้จากการประกวดในครั้งนี้ มาพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ต่อไป

ทั้งนี้ ยังมีทีมเยาวชนไทยที่สามารถคว้ารางวัล Grand Awards และSpecial Awards มาครอบครองอีกหลากหลายสาขา ได้แก่

  • โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ โครงงานเรื่อง “วิธีการยั่งยืนในการควบคุมปัญหาการเป็นศัตรูพืชของหนอนด้วงสาคู” (Approach to Control Red Palm Weevil Pests) ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 3 สาขาสัตวศาสตร์ ได้รับเงินรางวัล $1000 นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล Special Award อันดับที่ 2 จากหน่วยงาน: S. Agency for International Development (USAID) ในสาขา Agriculture and Food Security ได้รับเงินรางวัล $3000 อีกด้วย ผู้ทำโครงงาน: นายสัญพัชญ์ อัครจีราวัฒน์, นายธนัตถ์กรณ์ เชาวนสมิทธิ์ และ นางสาววนิดา ภู่เอี่ยม เป็นครูที่ปรึกษา

 

  • โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ โครงงานเรื่อง “ออร่า “ผู้ช่วยป้องกัน ชะลอ และฟื้นฟูข้อเสื่อม” (O-RA: Osteoarthritis Rehabilitation Assistant) ได้รับรางวัล Grand Award อันดับที่ 4 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ปริวรรต ได้รับเงินรางวัล $500 นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล Special Award อันดับที่ 1 จากหน่วยงาน : Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society ในสาขา: Life Sciences Discipline ได้รับเงินรางวัล $1,500 อีกด้วย ผู้ทำโครงงาน : นางสาวนภัสชล อินทะพันธุ์, นายแก้วกล้า สร้อยกาบแก้ว, นายกฤตภาส ตระกูลพัว และ นายกฤติพงศ์ วชิรางกุล เป็นครูที่ปรึกษา

 

 

  • โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย  โครงงานเรื่อง “วิธีการใหม่ในการตรวจสอบการติดเชื้อโรคเพบริน” (Pebrine Disease Detection Using Silkworm Phototaxis) ได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 2 สาขาสัตวศาสตร์ พร้อมเงินรางวัล $2000 ผู้ทำโครงงาน : นายธนวิชญ์ น้ำใจดี, นายพณทรรศน์ ชัยประการ, นางสาวกัญญาริณทร์ ศรีวิชัย และ นายเกียรติศักดิ์ อินราษฎร เป็นครูที่ปรึกษา

 

 

  • โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี โครงงานเรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมซ่อมแซมป่าหลังเกิดไฟป่าเลียนแบบโครงสร้างของผลน้อยหน่าเครือ” (Kadsura coccinea) (A Novel Seed Delivery System for Effective Reforestation) ได้รับรางวัล Grand Award อันดับที่ 2 สาขาวิทยาศาสตร์โลกและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม พร้อมเงินรางวัล $2,000 ผู้ทำโครงงาน : นายจิรพนธ์ เส็งหนองแบน, นายนฤพัฒน์ ยาใจ, นายพรหมพิริยะ ขัตติยวงษ์ และ  นายขุนทอง คล้ายทอง เป็นครูที่ปรึกษา

 

 

  • โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง โครงงานเรื่อง “โครงงานการศึกษาแบบจาลองผลของสนามแม่เหล็กต่อพายุทรงหลายเหลี่ยมบนดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์โดยหลักความไม่เสถียรเชิงอุทกพลศาสตร์” (Study of Polygonal Cyclones on Jupiter and Saturn) ได้รับรางวัล Grand Award อันดับที่ 3 สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ พร้อมเงินรางวัล $1000 ผู้ทำโครงงาน : นางสาวจินต์จุฑา ปริปุรณะ, นายปวริศ พานิชกุล, นางสาวอมาดา ภานุมนต์วาที และ ดร.ปริญญา ศิริมาจันทร์ และนายศรัณย์ นวลจีน เป็นครูที่ปรึกษา